นายอิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า วันนี้ 7 สมาคมด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร, สมาคมอาคารชุดไทย, สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย, สมาคมการขาย และการตลาดอสังหาริมทรัพย์, สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย และสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ได้เข้าพบนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อยื่นข้อเสนอกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์
สำหรับข้อเสนอมีทั้งหมด 8 เรื่องด้วยกัน หลายเรื่องเป็นเรื่องที่เคยเสนอไปแล้ว ซึ่งประกอบด้วย
1.การลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนเหลือ 1% และค่าจดจำนองเหลือ 0.01% ซึ่งมีการต่ออายุไปแล้วถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยขอให้ปรับหลักเกณฑ์มูลค่าการซื้อที่อยู่อาศัย จากราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 5-7 ล้านบาท หรือให้สิทธิการลดหย่อน 3 ล้านบาทแรก เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้มีกำลังซื้อที่สูงกว่า 3 ล้านบาททั้งบ้านสร้างใหม่ บ้านมือสอง
2.ขอสนับสนุนให้มีการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเอง ในอัตราลดหย่อนล้านละ 10,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ลดภาระของผู้ที่ต้องการปลูกบ้านบนที่ดินของตนเอง และกระตุ้นเศรษฐกิจทุกภาคส่วนที่เชื่อมโยงกับธุรกิจรับสร้างบ้านรวมทั้งสนับสนุนให้ผู้รับสร้างบ้านจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น
3.สนับสนุนการมีบ้านหลังแรกของผู้มีรายได้น้อย โดยพิจารณาดอกเบี้ยอัตราต่ำหรือซอฟต์โลน 3% เป็นเวลา 5 ปีแรก จากสถาบันการเงินของรัฐ, ยกเว้นค่าโอน และจำนองบ้านหลังแรกราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท, สนับสนุนเงินดาวน์ผู้ซื้อบ้านหลังแรกจำนวน 100,000 บาทสำหรับบ้านหลังแรกเท่านั้น
4.ขอให้กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง แก้ประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง เรื่องกำหนดนโยบายการจัดสรรที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและพาณิชยกรรม โดยขอให้ “ลด” ขนาดที่ดินของโครงการจัดสรรให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ด้วยการลดขนาดบ้านเดี่ยวจากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 50 ตารางวา เป็นไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา บ้านแฝดจากเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 35 ตารางวา เป็นไม่ต่ำกว่า 28 ตารางวา และทาวน์เฮาส์ จาก เนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 16 ตารางวา เป็นไม่ต่ำกว่า 14 ตารางวา
5.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น ขอให้ลดหย่อนภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง 50% เป็นระยะเวลา 1 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว แก้ไขอัตราที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือสร้างเสร็จของโครงการที่ยังไม่ได้ขาย และการบริการสาธารณะในโครงการจัดสรร เช่น สโมสร สระว่ายน้ำ คลับเฮาส์ จากกำหนดให้เป็นประเภทอื่นๆ เป็นประเภทที่อยู่อาศัย เป็นต้น
6.พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องการถือครองที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ เช่น ขยายระยะเวลาการเช่าจาก 30 ปี เป็น 60 ปีโดยกำหนดการเช่าให้เป็นทรัพย์สิทธิ, ทบทวนหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ที่เกี่ยวกับการที่ชาวต่างชาติสามารถซื้อที่อยู่อาศัยได้, ให้วีซ่าระยะยาวต่างชาติ 10 ปี ที่ซื้อที่อยู่อาศัย 10 ล้านบาทขึ้นไป และมิดเทอมวีซ่า 5 ปี ที่ซื้อที่อยู่อาศัย 5 ล้านบาทขึ้นไป
7.ให้ช่วยประสานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยกเลิกมาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ Loan-to-Value: LTV เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ
8.ขอให้ทบทวนความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในกระบวนการขออนุมัติรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือEIA ของคอนโดมิเนียม
ให้ผู้ประกอบการที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน สามารถยื่น และดำเนินการจนครบขั้นตอนในการได้รับอนุมัติ EIA ในระหว่างที่ยังไม่ได้โอนที่ดินได้ เพราะกระบวนการอนุมัติมีความซับซ้อน ผูกพันกับหลายภาคส่วน ทำให้มีความเสี่ยงสูงมากในการทำธุรกิจ หากไม่ผ่านEIA จนทำให้ผู้ประกอบการเสียหายมากจนถึงขั้นล้มละลาย เพราะรับโอนที่ดินที่ราคาสูงมากมาแล้วแต่ไม่สามารถพัฒนาโครงการได้
“ท่านนายกฯ เข้าใจอยู่แล้วว่า อสังหาฯเป็นธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงเยอะ ถือเป็นเรื่องที่ดีท่านดำเนินการให้ทันที ”
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ 10 ม.ค. 2567