ปัญหาต้นไม้ข้างบ้านรุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินตัดเองเลยได้มั้ย

การปลูกต้นไม้ได้รับความนิยมมากในหมวดหมู่การจัดสวน ตกแต่งพื้นที่รอบ ๆ บ้าน ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการทำบ้านเลยก็ว่าได้ เพราะการมีต้นไม้และพื้นที่สวนจะส่งผลโดยตรงต่อผู้อยู่อาศัย รวมถึงบรรยากาศรอบ ๆ แต่เมื่อปลูกไป ปลูกมา วันเวลาผ่านไปต้นไม้แผ่กิ่งก้านสาขา จนทำให้เกิดปัญหาที่หลายบ้านอาจเผชิญอยู่ ณ ขณะนี้ ต้นไม้ข้างบ้านรุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินถือเป็นกรณีระหว่างเพื่อนบ้านที่พบเห็นได้บ่อย ตั้งแต่เจรจาแล้วจบ ไปจนถึงทะเลาะวิวาทขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลยทีเดียว ทำความเข้าใจข้อกฎหมายการตัดกิ่งไม้บ้านคนอื่น พร้อมวิธีแก้ไขเรื่องที่หลายคนสงสัยได้ที่นี่

กฎหมายที่เกี่ยวข้องในกรณีต้นไม้ข้างบ้านรุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดิน

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ “การปลูกต้นไม้ในเขตแดน” ระบุว่า หากมีการแจ้งเตือนเกี่ยวกับปัญหากิ่งไม้เลื้อย ยื่นมายังเขตที่ดิน แล้วไม่มีทีท่าว่าอีกฝ่ายจะแก้ไข บ้านที่ได้รับผลกระทบมีสิทธิตัดกิ่งที่ล้ำเข้ามาในเขตได้

1. มาตรา 1355

“ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น ท่านว่าแดนแห่งกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นกินทั้งเหนือพื้นดินและใต้พื้นดินด้วย”

2. มาตรา 1347

“เจ้าของที่ดินอาจตัดรากไม้ซึ่งรุกเข้ามาจากที่ดินติดต่อและเอาไว้เสีย ถ้ากิ่งไม้ยื่นล้ำเข้ามา เมื่อเจ้าของที่ดินได้บอกผู้ครอบครองที่ดินติดต่อให้ตัดภายในเวลาอันสมควรแล้ว แต่ผู้นั้นไม่ตัด ท่านว่าเจ้าของที่ดินตัดเอาเสียได้”

  • ราก เจ้าของที่ดินสามารถตัดรากต้นไม้ข้างบ้านที่รุกล้ำเข้ามาจนทำให้เกิดปัญหาโครงสร้างบ้านได้เลยโดยไม่ต้องแจ้งเพื่อนบ้าน (เจ้าของต้นไม้)
  • กิ่งไม้ ในส่วนของกิ่งไม้ที่ยื่นเข้ามา จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าของต้นไม้ทราบถึงปัญหาก่อน ถ้าหากแจ้งไปแล้วไม่มีการจัดการใด ๆ เป็นระยะเวลาหนึ่ง จึงจะสามารถตัดด้วยตนเองได้

3. มาตรา 1348

“ดอกผลแห่งต้นไม้ที่หล่นตามธรรมดาลงในที่ดินติดต่อแปลงใด ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นดอกผลของที่ดินแปลงนั้น”

  • ดอกและผล โดยปกติแล้วดอกและผลของต้นไม้ย่อมเป็นสิทธิของเจ้าของต้นไม้ แต่กรณีที่ดอกและผลร่วงลงมาตกในพื้นที่ของบุคคลอื่น กฎหมายให้สันนิษฐานว่าเป็นของเจ้าของที่ดิน (ดอกและผลหล่นลงพื้น) แต่เจ้าของต้นไม้ก็ยังสามารถนำหลักฐานมาแสดงเพื่อโต้แย้งว่าดอกและผลเป็นของตนได้ ส่วนใหญ่จะแย้งเฉพาะในกรณีพื้นที่บ้านทั้งสองหลังปลูกต้นไม้ชนิดเดียวกัน

ความเสียหายที่เกิดจากต้นไม้ข้างบ้านรุกล้ำ ใครรับผิดชอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 145 กำหนดว่าไม้ยืนต้นถือเป็นส่วนควบกับที่ดิน และมาตรา 144 กำหนดว่าเจ้าของทรัพย์มีกรรมสิทธิ์ในส่วนควบของทรัพย์ คือ เจ้าของที่ดินถือเป็นเจ้าของต้นไม้ด้วย ถึงแม้จะเป็นต้นไม้ที่งอกขึ้นเองแบบไม่ได้ตั้งใจปลูกก็ตาม หากต้นไม้ล้มทับสร้างความเสียหายให้บ้านอื่น บ้างข้าง ๆ เจ้าของที่ดินหรือเจ้าของต้นไม้ต้องรับผิดชอบในความเสียหายนั้น ๆ ด้วย

ผลของการไม่แจ้งเจ้าของต้นไม้หรือตัดโดยพลการ

แม้ต้นไม้ข้างบ้านรุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินจนสร้างความเสียหาย ก็ไม่ควรตัดโดยพลการ ควรมีการแจ้งและชี้แจ้งกับเจ้าของต้นไม้ด้วยเหตุและผล รวมถึงผลกระทบที่ต้องเจอ เพราะถ้าหากตัดกิ่งไม้ด้วยตัวเองแบบไม่มีการแจ้งให้ทราบก่อน จะถือว่าผู้ตัดมีความผิดตามปฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ระมวลกมาตร 420 ประกอบมาตรา 421 โทษฐานทำให้ผู้อื่นเสียทรัพย์สิน จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท (ทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 358) แต่ทั้งนี้ก็ยังเป็นความผิดที่สามารถยอมความได้

ถึงแม้เหตุการณ์ต้นไม้ข้างบ้านรุกล้ำเข้ามาในเขตจะเป็นปัญหาเพื่อนบ้านที่ทำให้หนักอกหนักใจ แต่ก็ยังมีวิธีจัดการด้วยตัวเองง่าย ๆ เริ่มจากการพูดคุยและเจรจา ถ้าหากต้องการจะตัดกิ่งไม้ก็ควรแจ้งให้เพื่อนบ้านทราบก่อน เมื่อเจ้าของต้นไม้หรือเพื่อนบ้านรับทราบปัญหาแต่ไม่มีความคืบหน้าถึงจะสามารถลงมือตัดเองได้ (รากต้นไม้สามารถตัดได้เลย) และส่วนที่เกิดจากต้นคงต้องรอให้หล่นลงมาจึงจะเก็บทิ้งหรือกินได้ แต่อย่าเผลไปเด็ดหรือบิดจากต้นเด็ดขาด ลำต้นก็ห้ามตัด เพราะจะมีผิดทางกฎหมายในข้อหาทำให้เสียทรัพย์นั่นเอง

Share the Post: