การอยู่คอนโดมิเนียมเป็นอีกหนึ่งในไลฟ์สไตล์ของคนสมัยใหม่ที่มักจะเลือกเป็นที่อยู่อาศัยแทนการอยู่บ้าน ด้วยความสะดวกในการเดินทางหรือความเป็นส่วนตัวกว่าการอยู่บ้านร่วมกันหลาย ๆ คน ยิ่งในปัจจุบันมีโครงการคอนโดสร้างใหม่ใจกลางเมืองเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้มีผู้เข้าพักอาศัยในคอนโดมากขึ้นเช่นกัน แต่หนึ่งสิ่งที่หลาย ๆ ท่านอาจละเลยหรือไม่ทราบ นั่นก็คือเรื่องความปลอดภัยอย่าง ‘บันไดหนีไฟในคอนโด’ เพราะหากเกิดอัคคีภัยหรือเหตุการณ์อื่น ๆ ที่ส่งผลต่อความอันตรายของผู้พักอาศัยในคอนโด บันไดหนีไฟเปรียบเสมือนทางรอดในเหตุการณ์นั้น ๆ วันนี้ นักค้าอสังหา จะมาแนะนำความรู้บันไดหนีไฟและกฎหมายบันไดหนีไฟที่น่าสนใจแก่ทุก ๆ คนกัน
ลักษณะของบันไดหนีไฟที่ถูกต้อง ตามกฎหมายกระทรวงฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ออกตามความใน พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 จะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. อาคารที่สูงตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไปแต่ไม่เกิน 23 เมตร หรืออาคารสูง 3 ชั้นและมีดาดฟ้าที่มีพื้นที่เกิน 16 ตารางเมตร ต้องมีบันไดหนีไฟที่ทำด้วยวัสดุทนไฟอย่างน้อย 1 แห่งและต้องมีทางเดินไปยังบันไดหนีไฟนั้นได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง
2. บันไดหนีไฟต้องมีความลาดชัดน้อยกว่า 60 องศา และมีชานพักบันไดทุกชั้น
3. บันไดหนีไฟภายนอกอาคารต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 60 ซม. และผนังส่วนที่บันไดพาดผ่านเป็นผนังทึบ ก่อสร้างด้วยวัสดุถาวรที่เป็นวัสดุทนไฟ
4. บันไดหนีไฟภายในอาคารต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 80 ซม. มีผนังทึบก่อสร้างด้วยวัสดุถาวรที่ทนไฟกั้นโดยรอบ เว้นแต่ส่วนที่เป็นช่องระบายอากาศและช่องประตูหนีไฟ และต้องมีอากาศถ่ายเทจากภายนอกอาคารได้โดยแต่ละชั้นต้องมีช่องระบายอากาศที่เปิดสู่ภายนอกอาคารได้ มีพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 1.4 ตารางเมตร กับต้องมีแสงสว่างให้เพียงพอทั้งกลางวันและกลางคืน
5. ประตูหนีไฟต้องทำต้วยวัสดุทนไฟ มีความกวัางไม้น้อยกว่า 80 ซม. สูงไม่น้อยกว่า 1.90 เมตร และต้องทำเป็นบานเปิดชนิดผลักออกสู่ภายนอกเท่านั้น กับต้องติดอุปกรณ์ชนิดที่บังคับให้บานประตูปิดได้เอง และต้องสามารถเปิดออกได้โดยสะดวกตลอดเวลา ประตูหรือทางออกสู่บันไดหนีไฟต้องไม่มีธรณีหรือขอบกั้น
6. พื้นหน้าบันไดหนีไฟต้องกว้างไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได และอีกด้านหนึ่งกว้างไม้น้อยกว่า 1.50 เมตร
นอกจากเรื่องลักษณะบันไดที่ถูกต้องแล้ว กฎหมายบันไดหนีไฟยังได้จำแนกลักษณะของบันไดหนีไฟที่ถูกต้องออกเป็น 2 แบบ คือบันไดหนีไฟในคอนโดที่สูงไม่เกิน 23 เมตร และคอนโดที่สูงเกิน 23 เมตรขึ้นไป
ลักษณะบันไดหนีไฟสำหรับอาคารสูงไม่เกิน 23 เมตร
- ผนังทึบ ทนไฟ
- ประตูบันไดหนีไฟขนาดกว้างไม้น้อยกว่า 85 ซม. สูง 2 ม. พร้อมอุปกรณ์ทำให้บานประตูปิดสนิท บานประตูเปิดเข้าสู่ตัวบันได ยกเว้นชั้นดาดฟ้า หรือชั้นล่างที่เข้า-ออก เพื่อหนีไฟสู่ภายนอกของอาคาร
- บันไดกว้างไม่น้อยกว่า 90 ซม. และไม่เกิน 1.50 ม.
- ชานพักบันไดระหว่างประตูกับบันไดกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 ม. และไม่น้อยกว่า 1.2 เท่าของความกว้างบันได
- ชานพักบันไดกว้างไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได
- ลูกนอนของบันไดกว้างไม่น้อยกว่า 22 ซม. ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 ซม. กรณีที่จะใช้บันไดนี้เป็นบันไดหลักสำหรับผู้พิการด้วย ต้องออกแบบลูกนอนของบันไดกว้างไม่น้อยกว่า 28 ซม. ลูกตั้งสูงไม่เกิน 15 ซม.
- บันไดหนีไฟภายในอาคาร ต้องจัดให้มีอากาศถ่ายเทจากภายนอกอาคารได้ โดยให้มีพื้นที่รวมกันไม่น้อยกว่า 1.4 ตารางเมตร
- ราวจับสูงจากพื้นไม่เกิน 90 ซม. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 ซม. เมื่อติดที่ผนังส่วนที่ยื่นออกมาจะต้องไม่เกิน 10 ซม.
- ราวกันตก สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 1.10 ม. ช่องเปิดของซี่ลูกกรง ต้องมีขนาดที่ไม่สามารถให้วัตถุทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ซม. ลอดได้
- ป้ายบอกเลขชั้นของบันได ระบุชั้นล่างสุดและชั้นบนสุดในบันไดหนีไฟ และบอกทิศทางปล่อยออก
- ทางปล่อยออกต้องเปิดออกสู่ภายนอกอาคารที่เป็นลานโล่งหนีไฟ คำนวณจากจำนวนผู้ใช้อาคาร และมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1 ม.
ลักษณะบันไดหนีไฟสำหรับอาคารสูงเกิน 23 เมตรขึ้นไป
- ผนังทึบ ทนไฟได้ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง
- ประตูบันไดหนีไฟขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 85 ซม. สูง 2 ม. พร้อมอุปกรณ์ทำให้บานประตูปิดสนิท บานประตูเปิดเข้าสู่ตัวบันได ยกเว้นชั้นดาดฟ้า หรือชั้นล่างที่เข้าออก เพื่อหนีไฟสู่ภายนอกของอาคาร
- บันไดกว้างไม่น้อยกว่า 90 ซม. และไม่เกิน 1.50 ม.
- ชานพักบันได ระหว่างประตู กับ บันไดกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 ม. และไม่น้อยกว่า 1.2 เท่าของความกว้างบันได
- ชานพักบันไดกว้างไม่น้อยกว่าความกว้างของบันได
- ลูกนอนของบันไดกว้างไม่น้อยกว่า 22 ซม. ลูกตั้งสูงไม่เกิน 20 ซม. กรณีที่จะใช้บันไดนี้เป็นบันไดหลักสำหรับผู้พิการด้วย ต้องออกแบบลูกนอนของบันไดกว้างไม่น้อยกว่า 28 ซม. ลูกตั้งสูงไม่เกิน 15 ซม.
- บันไดหนีไฟภายในอาคารต้องจัดให้มีระบบอัดลมภายในบันได ที่มีผนังสามารถเปิดระบายอากาศได้ ต้องมีช่องเปิดทุกชั้น เพื่อช่วยระบายอากาศ
- ราวจับสูงจากพื้นไม่เกิน 90 ซม. ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 ซม. เมื่อติดที่ผนังส่วนที่ยื่นออกมา จะต้องไม่เกิน 10 ซม.
- ราวกันตก สูงจากพื้นไม่น้อยกว่า 1.10 ม. ช่องเปิดของซี่ลูกกรง ต้องมีขนาดที่ไม่สามารถให้วัตถุทรงกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 10 ซม. ลอดได้
- ป้ายบอกเลขชั้นของบันได ระบุชั้นล่างสุด และชั้นบนสุดในบันไดหนีไฟ และบอกทิศทางปล่อยออก
- ทางปล่อยออกต้องเปิดออกสู่ภายนอกอาคารที่เป็นลานโล่งหนีไฟ คำนวณจากจำนวนผู้ใช้อาคาร และมีความกว้างไม่น้อยกว่า 1 ม.
ดังนั้นใครที่อาศัยอยู่ในคอนโดหรืออยากจะซื้อคอนโดสักห้อง ไม่ว่าจะเป็นคอนโดใหม่หรือคอนโดมือสอง ก็ควรพิจารณาถึงโครงสร้างด้านความปลอดภัยของคอนโด อย่างเช่นบันไดหนีไฟ ลองไปเดินตรวจสอบบันไดหนีไฟและส่วนต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัยอย่างเรา