พอคิดอยากจะปรับบ้านใหม่ ก็มีเรื่องให้ต้องคิดมากมายเต็มไปหมดนักค้าอสังหาจะชวนคุณมาวางความกังวลใจทั้งหมด แล้วมาพบกับข้อควรรู้สำหรับคนรักบ้านก่อนเริ่มงานรีโนเวท เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นและตอบโจทย์ความต้องการใช้งานแบบระยะยาว เรียกได้ว่าทั้ง 8 เรื่องนี้ใช้เตรียมตัวไว้สำหรับการวินิจฉัยและพบหมอบ้านเบื้องต้น ก่อนไปสู่ขั้นตอนบำรุงรักษาบ้านใหม่ให้สวยงามขึ้นกว่าเดิม และอยู่สบายไปอีกแสนนาน
1) เช็คความต้องการใช้งานพื้นที่ภายในบ้าน
เริ่มต้นด้วยการตั้งโจทย์อย่างชัดเจนทั้งเรื่องงบประมาณและผู้ใช้สอยโดยมองไปถึงอนาคตข้างหน้า เพื่อจะได้ทราบขอบข่ายของการรีโนเวทว่า เป็นการปรับเปลี่ยนแค่เพียงบางส่วน หรือจำเป็นต้องต่อขยายพื้นที่เพื่อให้ตอบโจทย์ด้านการใช้งาน ไปพร้อมกับการวางแผนการทำงานได้อย่างชัดเจน และรวดเร็ว
2) ตรวจสอบข้อกฎหมายการก่อสร้าง
เรื่องกฎหมายเป็นเรื่องที่ควรรู้อย่างยิ่ง เพราะจำเป็นจะต้องยื่นขออนุญาตในกรณีที่มีการต่อเติม ซึ่งหากการต่อยื่นเกิน 5 ตารางเมตร หรือข้อกำหนดในเรื่องระยะร่นที่แตกต่างกันไปตามรูปแบบผนัง กฎหมายบอกว่าต้องทำการเขียนแบบและยื่นขออนุญาตก่อน มีขั้นตอนการทำแบบสถาปนิก-วิศวกรเข้ามาเกี่ยวข้อง และต้องทำความเข้าใจกฎหมายด้วย
หลังจากนั้นจึงเป็นการตรวจสุขภาพบ้าน ได้แก่ โครงสร้าง สถาปัตยกรรม งานระบบ และโครงสร้างสาธารณะ เพื่อเช็กความเป็นไปได้ของโครงสร้างเดิม
3) ประมาณการงบประมาณ
ปกติแล้ว การสร้างบ้านหนึ่งหลังจะมีราคากลางของค่าก่อสร้างอยู่ที่ 18,000-20,000 บาทต่อตารางเมตร และยังมีงบประมาณแฝงที่มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ อย่างงานรื้อของเก่า ค่าดำเนินการพิเศษเฉพาะจุด หรือการปรับปรุงงานระบบใหม่ทั้งหมดสำหรับบ้านเก่าที่มีอายุมากกว่า 30 ปี ซึ่งจำเป็นต้องบวกไว้เผื่อด้วย เพื่อที่จะนำไปสู่ข้อสุดท้ายที่การหาพาร์ทเนอร์ที่เชื่อถือได้ในการดำเนินงานปรับปรุงก่อสร้าง
4) เลือกแบบบ้านที่เข้ากับสไตล์เรา
นอกจากแบบบ้านแล้ว ฟังก์ชันการใช้งานยังต้องสอดคล้องกับความต้องการใช้พื้นที่ในอนาคต และปรับบ้านให้เข้ากับทิศทางของแสงธรรมชาติตลอดวันอีกด้วย
สำหรับตัวบ้าน ควรมีระดับพื้นบ้านไม่ควรต่ำกว่าถนน หรือหากบ้านหลังที่ต้องการต่ำกว่าถนน ก็จะต้องคำนวณระดับความสูงหลังการถม หรือการจัดการระบายน้ำใหม่
ที่สำคัญ อย่าลืมเช็คโครงสร้างหลักว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ หากบ้านทรุดไม่ต้องตกใจเพราะย่อมเป็นไปตามอายุการใช้งาน แต่ให้ตรวจสอบที่โครงสร้างภายในว่าไม่มีรอยแตกร้าวบนตัวบ้าน พร้อมทั้งตรวจสอบวิธีการต่อเติมของตัวบ้านเพื่อวางแผนการปรับปรุงก่อนเข้าอยู่ต่อไป
5) เช็คงานระบบกับบ้านเก่า
เรื่องที่ต้องตรวจสอบงานระบบของบ้านเก่า มีทั้งระบบประปาและสุขาภิบาล ทดลองโดยการปิดก๊อกน้ำทุกอัน แล้วดูมิเตอร์ว่ามันยังวิ่งอยู่ไหม เช็ครอยรั่ว และดูว่าปั๊มยังทำงานตลอดเวลาหรือไม่ แต่หากเป็นบ้านอายุเยอะ อาจพิจารณาเลือกเปลี่ยนงานระบบใหม่ได้เลย
ตรวจเช็คปัญหาการรั่วซึมของหลังคา และระบบพื้นที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ ด้วยการเปิดฝ้าเช็กคราบน้ำและรอยรั่วที่ช่องแสงผ่านได้ รวมทั้งให้ความสำคัญกับรอยต่อระหว่างผนังกับพื้นด้วย และเช็กร่องรอยของปลวก เพราะถ้ามีปัญหาจะได้จัดการทันท่วงที ร่วมกับการเลือกวัสดุทดแทนไม้เป็นวัสดุหลักในการรีโนเวทครั้งใหม่
6) ตรวจสุขภาพหลังคา
สำหรับเมืองไทยการป้องกันความร้อนเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าบ้านเรา 80% มาจากหลังคา โดยการตรวจสอบระบบหลังคาและแผ่นสะท้อนความร้อนใต้หลังคา ถ้าไม่ไหวก็พิจารณาทำใหม่จะดีกว่า
สัญญาณเตือนปัญหาหลังคาที่อาจมาถึงส่วนใหญ่เป็นเรื่องรอยรั่ว ทั้งจากฝ้าภายในและรอยต่อระหว่างฝ้าเริ่มมีคราบให้เห็น โดยเฉพาะในฤดูฝน เสียงหยดน้ำกระทบฝ้าเวลาฝนตกพร้อมกับการเห็นฝุ่นกระจายตัวออกเป็นคราบเหมือนเส้นใยแมงมุม หากอาการหนักขึ้นถึงขั้นฝ้าบวม แอ่นตัว น้ำรั่วเข้าบ้าน แสดงว่าปัญหามาเยือนแล้วเรียบร้อย
7) วิธีซ่อมหลังคาหากชำรุด
วิธีการซ่อมแซม จะเป็นการรื้อเปลี่ยนอะไหล่ จบปัญหาถาวร สำหรับการซ่อมหลังคาบ้านเดี่ยวเฉพาะจุด (Roof Repair), การรื้อเปลี่ยนหลังคาทั้งหมด (Re-roof) สำหรับบ้านที่รั่วหนัก รั่วหลายจุด จนซ่อมไม่ไหว ไปจนถึงสำหรับบ้านทาวน์เฮาส์ที่หลังคาติดกันทั้งหมด
8) เตรียมหลังคาเผื่อโซลาร์เซลล์
สำหรับบ้านที่ตั้งใจอยากติดหลังคาโซลาร์ ควรพิจารณาตามข้อต่างๆ ต่อไปนี้
มีพื้นที่ติดแผงควรอยู่ทางทิศใต้ โครงสร้างหลังคาแข็งแรงรับน้ำหนักได้ปลอดภัย ซึ่งการติดตั้งแผงเหมาะสำหรับบ้านที่มีการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันจะคุ้มค่ากว่า
หลังคาไม่มีปัญหาการรั่วซึม หรือแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนติดโซลาร์ โดยจำเป็นต้องมีวิศวกรโครงสร้างเข้ามาตรวจก่อน ซึ่งหลังคาโครงสร้างเหล็กหรือโครงเหล็กถัก (Truss) มีความแข็งแรงเพียงพอสำหรับการติดตั้งได้เลย
มีทางขึ้นสำหรับการล้างแผงและดูแลระบบหลังการติดตั้ง โดยจำเป็นต้องทำอย่างสม่ำเสมอปีละ 1-2 ครั้ง