อยากต่อเติมรั้วบ้านทำเลยได้ไหม

ปัญหาที่มีให้พบเห็นกันมานานอย่างเช่น ปัญหา “เรื่องรั้วบ้าน” ที่มักจะตกลงกันไม่ได้เพราะต่างฝ่ายต่างหวงพื้นที่ของตนเอง ถ้าหากวันหนึ่งมีเรื่องราวเช่นนี้เกิดขึ้นกับตัวเราหรือเพื่อนบ้าน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการต่อเติมรั้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะตกลงกันเอง บ้างก็พูดคุยกันได้ง่าย ๆ แต่ก็มีไม่น้อยเลยที่จะต้องคับแคลงใจ ทะเลาะ หรือมีปากเสียงกัน จะดีกว่าไหมถ้าเราได้รู้ข้อกฏหมายอาคาร เกี่ยวกับการ ต่อเติมรั้วบ้าน ยังไงให้ถูกต้อง ลดการใช้อารมณ์ เพิ่มการใช้เหตุผลมาพูดคุยกัน เพียงเท่านี้ก็เป็นโอกาสดีที่ช่วยให้การตกลงร่วมกันนั้นผ่านไปได้ด้วยดี

ทำความเข้าใจ ‘รั้วบ้าน’ เป็นของใคร ?

คำถามนี้อาจเป็นที่ข้องใจของใครหลาย ๆ คน ที่ว่า ‘รั้วบ้านเป็นของใคร’ ซึ่งอย่างแรกต้องแยกก่อนว่ารั้วบ้านที่กั้นระหว่างเรากับเพื่อนบ้านนั้น ก่อสร้างอยู่บนที่ดินของใคร ถ้าหากอยู่กึ่งกลางของพื้นที่ทั้งสองบ้านนั่นหมายความว่าเป็นสมบัติส่วนรวมหรือเป็นการถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน แต่ถ้าหากเราเป็นผู้ที่ย้ายเข้ามาอาศัยทีหลัง ก็อาจแสดงน้ำใจในการต่อเติมรั้วบ้านใหม่ด้วยการเสนอตัวออกค่าใช้จ่ายเอง เพราะเดิมทีเพื่อนบ้านได้สร้างขึ้นมาจากทรัพย์สินของเขาโดยที่เราไม่ได้ช่วยตั้งแต่ทีแรกนั่นเอง

ส่วนอีกกรณีหนึ่งที่ได้ทำการตรวจสอบจากหมุดที่ดินแล้ว พบว่ารั้วที่มีอยู่ ณ ขณะนี้ ก่อสร้างในเขตพื้นที่ของเพื่อนบ้าน สิ่งที่เราจะสามารถทำได้ต่อไปนั่นคือ การสร้างรั้วขึ้นมาใหม่ในพื้นที่ของเราเอง และไม่ควรละเลยหรือปล่อยให้ตนเองใช้ทรัพย์สินของผู้อื่นนาน ๆ เพราะอาจจะโดนฟ้องร้องได้จากสาเหตุการล้ำเข้าไปในที่ของผู้อื่นและใช้ทรัพย์สินของผู้อื่นโดยพลการ

การต่อเติมรั้วบ้าน แบ่งออกเป็น 2 แบบ ได้แก่

1.รั้วส่วนที่ติดกับเพื่อนบ้าน 

1.1 สร้างรั้วบนเขตที่ดินของตนเอง โดยไม่มีการล้ำพื้นที่หรือการก่อสร้างรั้วไม่ได้นำไปสู่สาเหตุที่ทำให้รบกวนเพื่อนบ้าน ก็ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตใด ๆ

1.2 สร้างรั้วที่ใช้ร่วมกัน ควรก่อสร้างให้มีฐานรากอยู่ตรงกลางเส้นโฉนด โดยจะนับว่าเป็นสมบัติร่วมของทั้งสองฝ่าย ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ทั้งเราและเพื่อนบ้านประหยัดพื้นที่ได้มาก แต่ถ้าหากเกิดกรณีที่รั้วเสียหายขึ้นมา ผู้ใดทำเสียหายก็เป็นผู้รับผิดชอบด้วยตนเอง เช่น ถอยรถไปชน ถมดินจนกำแพงพังลงมา เป็นต้น

2.รั้วส่วนหน้าบ้านหรือส่วนที่ติดกับพื้นที่สาธารณะ

2.1 สามารถสร้างรั้วภายในขอบเขตที่ดินของตนเองเท่านั้น (ทำรั้วที่ดินด้วยรากฐานตีนเป็ด) ไม่สามารถแชร์พื้นที่กับทางราชการหรือปลูกสร้างล้ำเส้นได้ ในกรณีนี้จำเป็นต้องใช้ใบอนุญาติก่อสร้างอาคาร หรือขอ อ.1  ถ้าหากมีการปลูกรั้วก่อนสร้างบ้าน จำเป็นต้องทำขออนุญาตสองครั้ง แต่ถ้าปลูกบ้านพร้อมทำรั้วในครั้งเดียวกัน ก็สามารถขออนุญาตใบเดียวกันได้เลย

ตัวเราหรือเพื่อนบ้านต้องการ ‘ต่อเติมรั้วบ้าน’ ต้องทำอย่างไร

ในกรณีที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน และเพื่อนบ้านต้องการต่อเติมรั้วบ้าน เมื่อเราทราบก็ควรรีบเข้าไปพูดคุย ปรึกษาเรื่องรูปแบบ ขนาดพื้นที่และวัสดุที่ใช้ทำรั้วบ้าน ไม่ควรปล่อยผ่านจนเพื่อนบ้านทำรั้วเสร็จ เพราะมีกรณีตัวอย่างให้เห็นอยู่มาก อย่างเช่น เพื่อนบ้านขยายรั้วล้ำเข้ามายังเขตพื้นที่ส่วนตัว จนเป็นเหตุให้ทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ดังนั้น การสอบถามไว้ก่อนย่อมดีที่สุด แต่ถ้าสุดท้ายแล้วรูปแบบของรั้วไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ เราก็สามารถแจ้งให้ทราบได้ก่อน โดยปกติแล้วการต่อเติมรั้วที่ใช้ร่วมกันจะสามารถทำได้ด้วยความสูงที่ไม่เกินกึ่งกลางของส่วนสูงรั้วเดิม

ในทางกลับกัน หากตัวเราเป็นผู้ที่ต้องการต่อเติมรั้วก็ควรจะนำรูปแบบของรั้วไปปรึกษาเพื่อนบ้านก่อน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน เพราะถ้าหากรั้วที่สร้างมีความสูงและทึบมากไปก็อาจส่งผลต่อทัศนียภาพรอบของพื้นที่ข้าง ๆ จนอาจเป็นเหตุให้ฟ้องร้องกันได้

 

สุดท้ายนี้เมื่อได้ทราบการ ต่อเติมรั้วบ้าน หรือ การแชร์รั้ว ในพื้นที่ตนเองอย่างถูกต้องตามกฎหมายไปแล้ว ก็ต้องระมัดระวังเรื่องการเลือกใช้วัสดุโครงสร้าง รวมถึงการดำเนินชีวิตต่าง ๆ ที่อาจส่งผลให้กำแพงบ้านของเราไปล้มทับทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นผู้ที่รับผิดชอบก็ย่อมเป็นตัวเราเอง แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากเพื่อนบ้างทำรั้วบ้านของเราพังก็สามารถใช้สิทธิ์เรียกร้องค่าซ่อมแซมได้เช่นกัน

Share the Post: