เตรียมตัวอย่างไรหากเกิดน้ำท่วมบ้าน
หน้าฝนแบบนี้ สิ่งที่ควรเฝ้าระวังให้ดีเลยสำหรับคนที่มีบ้าน คือเหตุการณ์ ”น้ำท่วม” ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าเหตุการณ์น้ำท่วมจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หากบ้านคุณอยู่ในพื้นที่สูงอาจอุ่นใจได้บ้าง แต่อุทกภัยเกิดขึ้นได้แบบไม่คาดฝัน เราจะเตรียมตัวและรับมือเหตุการณ์นี้อย่างไรได้บ้างวันนี้ “นักค้าอสังหา” จะมาแนะนำให้ทุกท่านทราบกัน
โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน
ระยะแรก : เตรียมรับมือก่อนน้ำท่วม
หากได้รับสัญญาณหรือคำเตือนจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ามีโอกาสที่น้ำจะท่วม เราควรรีบเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุดกับบ้าน
- ขนย้ายสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ขึ้นที่สูง ทั้งทรัพย์สินมีค่า เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานพาหนะไปยังที่ปลอดภัย
- กักตุนสิ่งของที่จำเป็น สำหรับการอยู่อาศัยในช่วงน้ำท่วม ซึ่งต้องคำนึงให้เพียงพอต่อจำนวนผู้อยู่อาศัยภายในบ้าน สิ่งที่ควรเตรียมไว้ได้แก่
- น้ำสะอาด ทั้งสำหรับดื่มและอาบ
- อาหารที่สามารถรับประทานได้ง่าย ๆ เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ขนมปัง
- ยาสามัญประจำบ้าน เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาสำหรับผู้มีโรคประจำตัว
- สิ่งของจำเป้น เช่น ผ้าอนามัย ถุงพลาสติก กระดาษชำระ
- อุปกรณ์ให้แสงสว่าง เช่น ไฟฉาย เทียนไข ไฟแช็ค ไม้ขีดไฟ เป็นต้น
- เก็บเอกสารสำคัญ ๆ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน สมุดบัญชีธนาคาร โฉนดที่ดิน ฯลฯ เก็บใส่ไว้ในซองพลาสติกกันน้ำ ปิดซองให้เรียบร้อย
- ชาร์จแบตสำรองไว้ให้เต็ม และเก็บไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินหากโทรศัพท์แบตเตอรี่หมด
- หากมีผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เด็ก และสัตว์เลี้ยง ควรพาไปอยู่สถานที่อื่นหรือที่ที่ปลอดภัย
- หากมีโอกาสที่น้ำท่วมสูงกว่าจุดที่มีเต้ารับปลั๊กไฟ ควรหาเทปกาวมาปิดเพื่อป้องกันการรั่วไหลของไฟฟ้า
- ตรวจเช็คถังแก๊สเพื่อป้องกันการเกิดแก๊สรั่ว
- เตรียมรองเท้าบูต หรือรองเท้ายาง เพื่อป้องกันการเหยียบเศษหรือสิ่งของต่าง ๆ
- จัดหากระสอบทรายหรืออุปกรณ์สำหรับกั้นน้ำ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่น้ำจะเข้าท่วมบ้าน
- ติดตามข่าวสารให้ดีและคอยสังเกตความผิดปกติของธรรมชาติ
ระยะที่สอง : ช่วงเกิดเหตุน้ำท่วม
หากบ้านของท่านเกิดเหตุน้ำท่วมแล้ว ควรตั้งสติและเตรียมตัวเพื่อรับมือกับมวลน้ำที่กำลังไหลเข้ามาเรื่อย ๆ หากมีน้ำไหลเข้ามาในบ้านแล้ว ควรเตรียมตัวดังนี้
- อพยพขึ้นที่สูง
- ตัดระบบไฟฟ้าในบ้าน ปิดการใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ และห้ามใช้ปลั๊กไฟโดยเด็ดขาด รวมถึงไม่ควรสัมผัสปลั๊กไฟหรือสวิตซ์ไฟด้วย
- คอยเฝ้าระวังสัตว์มีพิษหรือสัตว์อันตรายที่อาจจะมาตามกระแสน้ำหรือหนีน้ำมา
- ใส่รองเท้าบูตหรือรองเท้ายางทุกครั้งหากต้องเดินลุยน้ำ
- อาจเกิดการท่วมจากท่อน้ำในบ้านได้ เพราะหากด้านนอกบ้านน้ำท่วมสูงมาก น้ำในท่อจะไหลย้อนกลับขึ้นมา ควรหากระสอบสายมาทบบริเวณปากของท่อระบายน้ำ หรือใช้เศษกระดาษหนังสือพิมพ์มาขยำ ๆ แล้วยัดลงไปในท่อชั่วคราว
- ติดตามการแจ้งเตือนน้ำท่วมจากโทรทัศน์หรือโซเชียลมีเดียอยู่ตลอด เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และรวบรวมเบอร์สายด่วนที่ให้ข้อมูลและช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
- กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โทร 1784
- ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ โทร 192
- กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 1182
- กรมชลประทาน โทร 1460
- ศูนย์ปลอดภัยทางน้ำ โทร 1199
- บริการแพทย์ฉุกเฉิน โทร 1669
ระยะที่สาม : หลังจากน้ำท่วม
ช่วงหลังเหตุการณ์น้ำท่วม ย่อมทิ้งร่องรอยของความเสียหายให้แก่ตัวบ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราควรตรวจสอบและฟื้นฟูเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่บ้านและทรัพย์สินของเรามากเกินไป
- ควรเดินตรวจสอบรอบบ้าน เพื่อตรวจเช็กความเสียหายที่เกิดขึ้น
- ตรวจเช็กระบบไฟฟ้า สายไฟ ปลั๊กไฟ เต้ารับ ว่าได้รับความเสียหายมากน้อยเพียงใด
- ตรวจเช็กเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงถังแก๊สเพื่อป้องกันการรั่วซึมของแก๊ส
- ตรวจสอบท่อน้ำว่ามีรอยแตกหรือรั่วไหม
- ทำความสะอาดบ้านในบริเวณที่เกิดน้ำท่วม เปิดประตูและหน้าต่าง เพื่อเป็นการระบายฝุ่นและความชื้นในตัวบ้าน