การจะซื้อบ้านสักหลังนึง ทิศทางของหน้าบ้านก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะทิศทางของแดดและลมที่จะเข้ามาสู่ตัวบ้านย่อมมีผลต่อตัวบ้านและผู้ที่อยู่อาศัยในบ้านด้วย และในศาสตร์อย่างฮวงจุ้ยก็มีความเชื่อเรื่องการหันทิศทางของหน้าบ้านเช่เดียวกัน แล้วแบบนี้เราจะเลือกอย่างไรดี จะเชื่อในหลักภูมิศาสตร์ หรือในหลักของศาสตร์ฮวงจุ้ย วันนี้ นักค้าอสังหา มาเทียบให้ดูกันว่าแต่ละศาสตร์แต่ละหลักการจะมีข้อมูลที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
เลือกทิศทางบ้านตามหลักฮวงจุ้ย
ทิศเหนือ : ทิศของธาตุน้ำ เสริมอำนาจบารมี
มีหลากหลายความเชื่อมากมายว่า การหันหน้าบ้านไปทางทิศเหนือจะทำให้ส่งเสริมเรื่องของอำนาจหน้าที่ ทำให้คนที่อยู่ในบ้านอยู่ในตำแหน่งที่สูง มีอำนาจในงานของตน แต่ในศาสตร์บางศาสตร์ของฮวงจุ้ย ทิศเหนือก็ไม่ใช่ทิศที่ดีมากนัก เพราะลมไม่ค่อยพัดผ่านมีความเชื่อกันว่าคนที่อาศัยอยู่ในบ้านที่หันหน้าไปทางทิศเหนือ จะทำบุญกับคนไม่ขึ้น จึงไม่เป็นที่นิยมสำหรับการหันหน้าบ้านไปทางทิศเหนือในศาสตร์ฮวงจุ้ย ทิศเหนือนี้สีตัวแทนคือสีโทน ฟ้า น้ำเงิน เทา ดำ
ทิศใต้ : ทิศของธาตุไฟ เสริมโชคลาภเงินทอง
ตามหลักของฮวงจุ้ยแล้ว ทิศใต้ถือว่าเป็นทิศที่ดีสำหรับการหันหน้าบ้านไปทางทิศใต้ เพราะเชื่อว่าเป็นทิศที่มีโชคเรื่องความมั่งคั่งเด่นกว่าทิศอื่น ๆ รับทรัพย์ รับทอง มีลมพัดเข้าเพื่อรับทรัยพ์ตลอดทั้งปี ตกน้ำไม่ไหลตกไฟไม่ไหม้แต่คนที่อยู่ในบ้านทางทิศใต้จะเหน็ดเหนื่อยจากการทำงาน มีงานเข้าตลอดทั้งปี ต้องระวังเรื่องปัญหาสุขภาพจากการทำงาน ทิศใต้นี้สีตัวแทนคือสีโทนร้อน เช่น สีแดงและสีส้ม การใช้สีโทนแดงและสีส้มจะช่วยส่งเสริมการสร้างสมชื่อเสียงและความสำเร็จในชีวิต
ทิศตะวันออก : ทิศของธาตุไม้ เสริมสุขภาพ แจ่มใส แข็งแรง
ตามหลักของฮวงจุ้ยแล้วถือเป็นอีกทิศที่เชื่อว่าจะเปิดรับความสิริมงคล ส่งเสริมสุขภาพกายและใจที่ดีของคนในบ้าน เปรียบเสมือนต้นไม้กำลังเริ่มผลิใบเพราะได้รับแสงแดดยามเช้า เหมาะสำหรับคนที่ทำอาชีพราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานประจำ ทิศตะวันออกนี้สีตัวแทนคือสีโทนเขียวและสีน้ำเงินเป็นหลัก
ทิศตะวันตก : ทิศของธาตุทอง เสริมชื่อเสียง เกียรติยศ
ตามหลักฮวงจุ้ยแล้ว ทิศตะวันตกถือว่าเป็นทิศที่ได้รับแสงแดดเข้าสู่ตัวบ้านนานที่สุดกว่าทิศอื่น ๆ เพราะตามหลักฮวงจุ้ยแล้ว แสงแดดเปรียบเสมือนแสงสว่าง เป็นเรื่องราวดี ๆ จึงจะช่วยเสริมสิริมงคลให้แง่ของชื่อเสียงเกียรติยศแก่ผู้อยู่อาศัย
เหมือนไฟส่องสว่างเพิ่มความเฉิดฉายให้แก่ทุกคนในบ้าน เหมาะกับคนที่ทำธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย หรืออาชีพที่ต้องใช้อำนาจอย่างนักการเมือง ทิศตะวันตกนี้สีตัวแทนคือสีโทน ขาว เงิน ทอง หรือเอิร์ธโทน เช่น สีโทนเบจ น้ำตาล ครีม เทา
เลือกทิศทางบ้านตามหลักภูมิศาสตร์
ทิศเหนือ
ทิศเหนือคือทิศที่ได้รับแสงแดดจากธรรมชาติน้อยที่สุดในตลอดทั้งวัน และได้รับแสงแดดน้อยที่สุดในตลอดทั้งปี ใครที่ชอบให้อากาศในบ้านเย็นสบายตลอดทั้งปี โดนแดดน้อย แถมช่วงหน้าหนาวยังได้รับลมอยู่ตลอด ควรจัดบ้านให้หันไปทางทิศเหนือ แต่สิ่งที่ต้องระวังเลยก็คือเรื่องของความชื้นสะสม กลิ่นอับ เพราะเป็นทิศที่ได้รับแสงแดดน้อยนั่นเอง
ทิศใต้
ทิศใต้เป็นทิศที่มีอากาศถ่ายเทดีที่สุด เป็นทิศที่ได้รับลมธรรมชาติตลอดทั้งปี และยังได้รับแสงแดดธรรมชาติตลอดทั้งปีอีกด้วย แต่บ้านในทางทิศใต้จะโดนแดดเต็ม ๆ ในช่วงเที่ยงเป็นต้นไป จึงจะเหมาะกับคนที่ชอบปลูกต้นไม้ ชอบซักผ้า
แต่ถ้าไม่ชอบแดดจ้ามาก แนะนำให้ปลูกต้นไม้หน้าบ้านเพื่อบังแสงแดดหรือให้ร่มเงาแก่ตัวบ้าน และอีกหนึ่งเรื่องที่ควรพิจารณาคือเรื่องกลิ่น ถ้าหน้าบ้านเลี้ยงสัตว์แล้วอุจจาระหรือมีขยะอยู่หน้าบ้าน ลมจะพัดพากลิ่นเข้าสู่ตัวบ้านด้วยจึงควรระวังเป็นพิเศษ
ทิศตะวันออก
เป็นทิศที่ได้รับแสงแดดเข้าสู่ตัวบ้านตั้งแต่เช้าตรู่ และจะค่อย ๆ ร้อนเพิ่มขึ้นจนถึงเที่ยง เหมาะสำหรับใครที่ตื่นเช้ามารับแสงแดดอบอุ่นจากธรรมชาติ เพราะแสงจะไม่จ้าเท่ากับทิศตะวันตก ช่วงบ่ายแสงแดดจะค่อย ๆ อ้อมไปหลังบ้านแทน
ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวก็จะทำให้บ้านมีอากาศที่เย็นสบายขึ้น หากเป็นช่วงฤดูร้อนอาจจะไม่ค่อยได้รับลม แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าหนาวจะมีลมพัดมาอ่อน ๆ ทำให้อากาศภายในบ้านถ่ายเทได้ดี ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือถ้าหลังบ้านเจอกับแดดในทิศตะวันตกตอนช่วงบ่ายจะช่วยไล่ความชื้นสะสมได้บ้านได้ดี
ทิศตะวันตก
ทิศตะวันตกเป็นทิศที่ได้รับแสงแดดในช่วงบ่ายจนไปถึงช่วงเย็น ทำให้ในตัวบ้านมีความร้อนสะสมมากตลอดทั้งวัน บ้านที่หันหน้าไปทางทิศตะวันตกจึงเหมาะเป็นบ้านของคนที่ชอบตื่นสาย หรือไม่ค่อยได้อยู่บ้าน ข้อดีอย่างหนึ่งคือบ้านไม่ค่อยอับชื้น เพราะความร้อนสะสมอยู่ทั้งวัน ช่วยลดการเกิดเชื้อราภายในบ้านได้ดี
ไม่ว่าคุณจะพิจารณาเลือกซื้อบ้านด้วยฮวงจุ้ยหรือด้วยหลักภูมิศาสตร์ สุดท้ายแล้วการตัดสินใจนั้นขึ้นอยู่กับความสบายใจของผู้อยู่อาศัยภายในบ้านเป็นหลัก หวังว่าบทความข้างต้นจะเป็นข้อมูลเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาการเลือกที่อยู่อาศัยของคุณได้ ซึ่งสามารถนำปัจจัยหรือองค์ประกอบอื่น ๆ มาพิจารณาเพิ่มเติมได้อีกด้วย